วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

อะฟลาท็อกซิน

อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษเกิดจากเชื้อรา พบปนเปื้อนในอาหารมากที่สุดชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักพบในอาหารหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง เช่น ถั่วลิสงดิบ ถั่วลิสงคั่ว หรือถั่วลิสงเคลือบ ทั้งยังพบในถั่วชนิดอื่นๆ รวมถึงข้าวและข้าวโพดด้วย
นอกจากนี้ ยังพบในแป้งต่างๆ รวมทั้งอาหารอบแห้งทั้งหลาย ได้แก่ พริกแห้ง พริกป่น พริกไทย งา ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กระเทียม หัวหอม ผักผลไม้อบแห้ง เครื่องเทศต่างๆ หรือแม้แต่สมุนไพร ชา ชาสมุนไพร และกาแฟคั่วบด
สรุปแล้ว "อะฟลาท็อกซิน" ใกล้ชิดกับมนุษย์ชนิดหายใจรดต้นคอ เพราะมีอยู่ในอาหารที่เราบริโภคประจำวัน หากร่างกายได้รับสารพิษชนิดนี้ประจำจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ ที่ทุกวันนี้ติดอันดับคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดโรคหนึ่ง (คนไทยทุกๆ 100,000 คน เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับ 51.7 คน)
เราจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงพิษภัยของอะฟลาท็อกซินได้อย่างไร? นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับธ.ค.แนะนำดังนี้
1.อะฟลาท็อกซินเติบโตได้ดีในอาหารที่มีความชื้นมากๆ เราสามารถสังเกตเห็นเชื้อราตัวนี้ได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวเข้ม เมื่อพบถั่วหรืออาหารที่มีราสีเขียวอมเหลืองควรทิ้งให้หมด ห้ามนำมาปรุงอาหารเด็ดขาด
2.อาหารที่แนวโน้มเกิดเชื้อราได้ อย่างพริกแห้ง กระเทียม เครื่องเทศต่างๆ ไม่ควรซื้อมาเก็บตุนไว้ในปริมาณมาก ซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และเก็บไว้ในที่แห้งสนิท ผักผลไม้ก็เช่นกัน
3.หลีกเลี่ยงถั่วลิสงคั่วที่ดูเก่า มีความชื้นหรือมีกลิ่นหืน เพราะมีโอกาสที่จะพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินสูง เป็นไปได้ไม่ควรรับประทานบ่อยหรือรับประทานในปริมาณมาก
4.อาหารที่เกิดจากเชื้อราได้ง่าย ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้ หีบห่อมิดชิด และควรสดใหม่ ไม่เป็นสินค้าที่เก็บค้างไว้นานหลายเดือน อย่าซื้ออาหารที่มีกลิ่นอับหรือกลิ่นหืน ซึ่งแสดงถึงความเก่าเก็บหรือการเก็บรักษาไม่ดี
5.หากสงสัยอาหารมีราขึ้นให้ทิ้งทันที อย่าทิ้งเฉพาะส่วน แม้แต่กระดาษหรือกล่องที่สัมผัสกับอาหารที่ขึ้นราก็ให้ทิ้งด้วย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนอาหารอื่น
6.อุปกรณ์เครื่องครัว รวมทั้งเขียงควรล้างให้สะอาด ระหว่างเตรียมอาหารควรซับให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้มีราขึ้น
พึงระลึกไว้เสมอว่า สภาพอากาศร้อนชื้นในบ้านเราเหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และเชื้อราอย่างยิ่ง จึงต้องใส่ใจเรื่องการเก็บรักษาอาหาร เครื่องครัว ส่วนอาหารตามท้องตลาดก็อย่าลืมหมั่นตรวจสอบความสดใหม่
ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากมะเต็งตับอันเกิดจากสารอะฟลาท็อกซินได้

ไม่มีความคิดเห็น: